โรคตามฤดู

ฤดูใบไม้ผลิ

โรคแพ้เกสรดอกไม้

ถ้ารู้สึกเคืองตาหรือน้ำมูกไหลไม่หยุด คุณอาจจะเป็นโรคแพ้เกสรดอกไม้ก็ได้ อาการแพ้เกสรของต้นไม้ประเภทใดโดยเฉพาะ (เช่น ต้นสน ต้นไซปรัส เป็นต้น) เรียกว่าเป็นโรคแพ้เกสรดอกไม้ ในญี่ปุ่นมีคนที่มีอาการนี้มาก ยาสำหรับอาการแพ้เกสรดอกไม้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ขอแนะนะให้ไปพบแพทย์ (แพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูกหรือแพทย์ที่รักษาด้านอาการแพ้โดยเฉพาะ) และทำการทดสอบอาการแพ้แล้วรับการรักษา การสวมหน้ากากและแว่นตาป้องกันจะสามารถทำให้อาการเบาลงได้

ฤดูร้อน

โรคลมแดด

หน้าร้อนที่ญี่ปุ่นจะมีอากาศร้อนและมีความชื้นสูงมาก ทำให้เป็นลมแดดได้ง่าย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและคนชรา อาการของโรคนี้คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มึนงง เป็นต้น แต่ถ้าเกิดอาการหนักก็อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้ การออกกำลังกายใต้แสงแดดจัด อยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน หรือลุกออกจากห้องเย็นๆ ไปข้างนอกที่มีอากาศร้อนในทันที จะทำให้เกิดอาการนี้ได้ง่าย จึงควรจะดื่มน้ำอยู่เสมอและการเพิ่มเกลือแร่ให้แก่ร่างกายอาจจะช่วยได้ในบางกรณี

โรคไข้เลือดออก

ที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีอาการของโรคนี้มาก่อน แต่ในปี 2014 ได้พบอาการดังกล่าวในบางพื้นที่ โรคนี้เป็นโรคติดต่อซึ่งมียุงเป็นพาหะ จะทำให้มีไข้ขึ้นสูงและปวดเมื่อยข้อต่ออย่างรุนแรง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงยุง การฉีดสเปรย์ป้องกันแมลงที่ผิวหนังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง

ฤดูหนาว

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นกันมากในฤดูหนาว โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ จะติตต่อกันได้ง่ายและแพร่หลาย ยาสามัญทั่วไปสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป แต่ยาเหล่านี้มักจะมีฤทธิ์อ่อนกว่าที่จำหน่ายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ถ้าอาการของคุณค่อนข้างหนัก ขอแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล บริษัทและโรงเรียนส่วนใหญ่จะสั่งในไม่ออกนอกบ้านเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก โปรดสวมหน้ากากออกไปด้วย วัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถหาได้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง คุณสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคได้ทุกปี

โนโรไวรัส

โนโรไวรัสจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และเป็นไข้ เป็นไวรัสที่เป็นกันมากในฤดูหนาว จะมีอาการป่วยติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์นับจากวันที่เริ่มเกิดอาการ เพื่อไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำในร่างกาย จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกายด้วยการดื่มน้ำ การป้องกันที่มีประสิทธิภาพมาก คือ การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ และการฆ่าเชื้อที่มือด้วยแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารจำพวกหอย จำเป็นต้องปรุงอาหารโดยใช้ความร้อนให้พอเพียง สำหรับเครื่องใช้ในครัวควรจะทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำร้อน